4 คำท่องไว้ เฝ้า-ปิด-ชิด-ช่วย เลี้ยงลูกตามวัยให้ปลอดภัยจาก “น้ำ”
เด็กแต่ละวัยจะมีความเสี่ยงที่จะจมน้ำในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนที่จะดูว่าเด็กแต่ละวัยควรดูแลป้องกันอย่างไร อยากให้พ่อแม่ที่ไม่ว่าลูกอยู่ในวัยใด ท่องจำกฎนี้ ให้ขึ้นใจก่อน เพราะเพียงแค่ 4 คำง่ายๆ เฝ้า ปิด ชิด ช่วยจะป้องกันหนูน้อยจากการจมน้ำได้ตลอดไป มาเริ่มกันเลยที่
เฝ้า คือการเฝ้าดูแลลูกอย่าให้คลาดสายตา โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ปิด ควรหาฝาปิดภาชนะใส่น้ำต่างๆ เช่น โอ่ง ถังน้ำ กะละมัง หรือหากไม่ใช้ควรเทน้ำทิ้งทันทีและคว่ำอุปกรณ์เหล่านั้นเก็บให้เป็นที่ปิดประตูห้องน้ำเสมอหากมีสระว่ายน้ำ หรือแหล่งน้ำเช่นทะเลสาบ หรือบึงน้ำ ในบริเวณบ้านก็ควรทำรั้วล้อมไม่ให้เด็กๆ เข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้
ชิด เมื่อให้ลูกลงเล่นน้ำ พ่อแม่ผู้ปกครองควรอยู่ประชิดตัวลูก โดยห่างให้ลูกอยู่ห่างได้ไม่เกิน 1 ช่วงแขน ไม่ปล่อยลูกเล่นน้ำเพียงลำพัง แม้ในสระว่ายน้ำจะมีคนอื่นๆ เล่นน้ำอยู่ด้วยก็ตาม
ช่วย เรียนรู้วิธีการช่วยปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำในเบื้องต้น รวมทั้งสอนให้ลูกรู้จักวิธีการช่วยเหลือตัวเองเมื่อตกน้ำ
ดูแลหนูน้อยวัย 0-3 ปี
เจ้าตัวน้อยวัยนี้ อยู่ระหว่างการหัดเดิน การทรงตัวยังไม่ดีนัก จึงมีความเสี่ยงที่จะหน้าคะมำลงไปในถังน้ำ อ่างน้ำ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้หนูน้อยวัยนี้ได้แก่
1. ควรหาฝาปิดภาชนะใส่น้ำต่างๆหากไม่ใช้ควรเทน้ำทิ้งทันทีอย่าวางทิ้งไว้แม้จะมีน้ำเพียงไม่กี่นิ้วก็ตาม
2. ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือขณะที่ดูแลลูก เพราะแอพลิเคชั่นสนุกๆ หรือข้อความจากเพื่อนสาว อาจทำให้คุณเผลอละสายตาจากเจ้าตัวน้อยได้โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ที่ใกล้แหล่งน้ำควรเก็บโทรศัพท์ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้มีอะไรทำให้คุณวอกแวกไปจากการดูแลเจ้าตัวน้อยได้
3. ควรสอนให้ลูกอยู่ห่างจากแหล่งน้ำไม่เข้าใกล้บริเวณที่เป็นแหล่งน้ำโดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย
4. สำหรับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไป อาจใช้นิทานในการสอนให้ลูกเห็นถึงอันตรายของการจมน้ำ สอนลูกไม่ให้เข้าไปเก็บของริมน้ำหรือริมตลิ่ง หากทำของเล่นตกลงไปควรบอกให้ผู้ใหญ่ทราบ
ดูแลลูกวัย 3 ปีขึ้นไป
- ไม่ปล่อยลูกไว้ในอ่างอาบน้ำเพียงลำพัง แม้เพียงเสี้ยวนาที
- ไม่ปล่อยให้ลูกไปเล่นตามลำพัง แม้จะในบริเวณที่คุ้นเคย
- หากมีสระว่ายน้ำ หรือแหล่งน้ำเช่นทะเลสาบ หรือบึงน้ำ ในบริเวณบ้านก็ควรทำรั้วล้อมไม่ให้เด็กๆ เข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้
- ฝึกให้ลูกตะโกนขอความช่วยเหลือหากตกน้ำ และสอนให้ลูกตะกายเข้าหาฝั่งแม้จะว่ายน้ำไม่เป็น
- เด็กอายุ 6ขึ้นไป ควรว่ายน้ำได้ รู้จักการช่วยเหลือผู้ตกน้ำได้อย่างถูกวิธี และ รู้จักการใช้ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปควรได้รับการฝึกการปฐมพยาบาล และสามารถปฏิบัติได้จริง
- ควรเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปสอนให้รู้จักวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงได้ด้วยตนเอง เช่น บริเวณนี้น้ำลึกหรือไม่ ควรเข้าใกล้หรือไม่ เป็นต้น
เรียนว่ายน้ำ เมื่อไรดี
เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวเล็ก คุณพ่อคุณแม่อาจคิดพาลูกไปเรียนว่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางร่างกายของลูกอาจยังไม่พร้อมสำหรับการว่ายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ จนกว่าจะอายุ 4 ปีขึ้นไป คลาสสอนว่ายน้ำเด็กเล็ก อาจลดความเสี่ยงจากการจมน้ำได้ระดับหนึ่ง แต่หนูน้อยวัยนี้ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดจากผู้ใหญ่อยู่นั่นเอง
สอนลูกเอาชีวิตรอดในน้ำ
หลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นหลักสูตรโดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ที่ผลิตขึ้นเพื่อให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ เอาชีวิตรอดได้เมื่อตกน้ำ โดยในหลักสูตรนี้ได้แนะนำการเอาชีวิตรอดในน้ำ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สอนเด็กๆ ได้ ดังนี้
1. ให้ลูกหันหน้าเข้าหาขอบสระ ปลายเท้า2 ข้างชิดผนังสระ มือจับขอบสระ ย่อเข่าลงเงยหน้าให้ใบหูปริ่มน้ำ แล้วค่อยๆ เหยีดแขนตรง
2. หายใจเข้าเต็มปอด ยืดอก ยกพุง ปล่อยมือออกจากขอบสระ จัดลำตัวให้ตรง แขนเหยียดตรงข้างลำตัว ขาตรงหลักสำคัญคือเงยหน้ามากๆ ตัวไม่งอ เอวไม่งอ จะทำให้ลอยเหนือผิวน้ำได้
3. คุณพ่อคุณแม่สามารถดาวน์โหลดคู่มือฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ http://www.thaincd.com/drowning/information.php
CPR น่ารู้ ช่วยหนูๆ เมื่อจมน้ำ
CPR หรือ ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ(Cardiopulmonary resuscitation) คือ การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจ และการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธี ในกรณีที่มีคนจมน้ำ ซึ่งทำได้โดย
1. เมื่อนำเด็กขึ้นจากน้ำแล้วให้วางเด็กนอนบนพื้นราบที่แห้งและแข็ง เขย่าและเรียกชื่อว่าลูกรู้สึกตัวหรือไม่ หากไม่รู้สึกตัว ให้ทำการช่วยหายใจ (โดยระหว่างนี้ควรมีคนโทรแจ้งขอให้รถพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยด้วย)
2. ระหว่างที่รอรถพยาบาล ให้ทำการช่วยหายใจ โดย เปิดทางเดินหายใจ กดหน้าผาก เชยคาง
3. เป่าปาก โดยการวางปากครอบกับปากของผู้ป่วย บีบจมูก และเป่าลมเข้าให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น โดยเป่า 2 ครั้ง
4. หลังจากนั้น ทำการกดหัวใจ โดยวางสันมือขนานแนวกึ่งกลางหน้าอก (บริเวณกึ่งกลางหัวนม 2 ข้าง) ประสานมือแขนตั้งฉาก กดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที
5. ทำ 30 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เองหรือจนกว่ารถพยาบาลจะมา
6. เมื่อหายใจได้เองแล้ว ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศรีษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกจากปาก
7. ใช้ผ้าคลุมเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ควรงดน้ำงดอาหารและพาลูกไปพบแพทย์ทันที
เบอร์โทรฉุกเฉิน ที่ควรรู้
- 1669 ศูนย์นเรทร เจ็บป่วยฉุกเฉิน
- 1196 อุบัติเหตุทางน้ำ
- 1154 หน่วยแพทย์กู้ชีพ
- 1691 แจ้งอุบัติเหตุ รพ.ตำรวจ
- 1199 เหตุด่วนทางน้ำ ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ
Drowning FYI! จมน้ำ...บางเรื่องที่คุณยังไม่เคยรู้
1. การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดย 10 ปีที่ผ่านมา (2546-2556) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 1,298 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 4 ราย
2. เด็กจมน้ำมีเวลาเพียง 4 นาทีในการช่วยชีวิต
3. เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ว่ายน้ำเป็นเพียง 16.3%
4. 94% ของการจมน้ำตายในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เกิดขึ้นในบ้าน รอบบ้าน และละแวกบ้าน (การศึกษาการจมน้ำในเด็กที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครและเสียชีวิตจากการจมน้ำในกรุงเทพมหานคร)
5. ในประเทศออสเตรเลีย การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่งในเด็กวัย 1-3 ปี
6. ในประเทศจีนเด็กวัย 1-14 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด
7. เด็กชายมีความเสี่ยงจากการจมน้ำเสียชีวิตมากกว่าเด็กหญิง
ข้อมูลจาก http://women.sanook.com