นอนกรน...เรื่องใหญ่ของเจ้าตัวน้อย !
เสียงกรนฟี้ ๆ ของลูกน้อย อาจจะเป็นเรื่องน่ารักน่าชังของคุณแม่บางคน ที่คิดว่าลูกนอนสบายจนระบายความสุขออกมาเป็นเสียงกรน แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากเจ้าตัวเล็กเริ่มกรนเสียงดังขึ้น คุณแม่ควรกังวลได้แล้ว เพราะภาวะนอนกกรนในเจ้าตัวเล็กส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาของลูก และหากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยงานนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิตค่ะ
ลูกน้อยนอนกรนเกิดจากอะไร
เด็กนอนกรนส่วนใหญ่จะพบในช่วงที่ลูกเริ่มโตตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองรวมถึงต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตขึ้น ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรน นอกจากนี้ภาวะนอนกรนของเจ้าตัวเล็กอาจเกิดจาก
โรคภูมิแพ้
โรคระบบทางเดินหายใจ
ลูกน้อยมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เจ้าตัวเล็กที่อ้วนเกินไปจะมีไขมันรอบคอเยอะ เมื่อหลับกล้ามเนื้อเกิดหย่อนตัว ไขมันไปกดทับทางเดินหายใจมากส่งผลให้นอนกรน
ครอบครัวมีประวัติโรคนอนกรน
นอนกรน…ภัยร้ายยามหลับ
การที่เจ้าตัวเล็กนอนกรนส่งผลต่อการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ หลับไม่สนิท หลับไม่ลึก ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย เพราะจะมีผลต่อการหลั่ง Growth Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กที่จะหลั่งออกมาในตอนหลับสนิทกลางดึกเท่านั้น
การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพที่เกิดจากการนอนกรนทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาลูกน้อยจะไม่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า อ่อนเพลีย งัวเงีย อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเรียนรู้ สมาธิสั้น ความจำไม่ดี ก้าวร้าว ซนกว่าปกติ
หากลูกน้อยมีอาการกรนและมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วยยิ่งต้องระวัง เพราะการหยุดหายใจตอนหลับส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดลดลง หัวใจจึงทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หากคุณแม่ปล่อยให้อาการนี้เกิดขึ้นนาน ๆ ลูกน้อยจะมีอาการหัวใจโต และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเสียชีวิตได้
การนอนกรนจะรบกวนการนอนของเจ้าตัวเล็ก ทำให้ลูกน้อยมีอาการต่าง ๆ เข้ามาเป็นอุปสรรคการนอนหลับไม่ว่าจะเป็น ปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะรดที่นอน นอนหลับไม่สนิท นอนดิ้น ผวาตื่น หรือฝันร้ายง่าย
การนอนกรนทำให้ลูกอ้าปากเวลานอน เพราะต่อมอะดีนอยด์โต ทำให้กระดูกเพดานปากโก่งสูง ส่งผลอาจทำให้ฟันหน้ายื่นผิดรูป (ฟันเหยิน) สาเหตุเพราะเจ้าตัวเล็กที่นอนกรนจะหายใจเข้าออกผ่านทางปากมากกว่าการหายใจเข้าออกผ่านช่องทางปกติคือจมูก
แก้ปัญหาลูกนอนกรน
เบื้องต้นคุณแม่ควรดูแลสภาพแวดล้อมในห้องนอนของเจ้าตัวเล็กว่าขัดขวางสุขลักษณะการนอนที่มีคุณภาพหรือเปล่า เช่น อากาศไม่ถ่ายเท มีแสงสว่างส่องตาลูก อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป มีอะไรมาปิดทับการหายใจ (เช่น หมอน ผ้าห่ม) ของลูกหรือเปล่า
เช็กดูว่าลูกน้อยมีน้ำมูกหรือเปล่า บางครั้งเจ้าตัวเล็กป่วยเป็นหวัด น้ำมูกก็เป็นอุปสรรคต่อการนอน ทำให้เกิดอาการกรนได้ หากเป็นสาเหตุนี้คุณแม่ก็จัดการเจ้าน้ำมูกตัวร้ายซะเลยค่ะ
การแก้ปัญหาเบื้องต้น ให้ลองจับลูกนอนตะแคงเพราะจะทำให้อาการนอนกรนของลูกลดลงได้
แนวทางการรักษาทางการแพทย์ คุณหมอจะตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่เด็กนอนกรน เช่น ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ หรือจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หรือไม่ แล้วรักษาตามอาการ
ส่วนอาการหยุดหายใจขณะหลับ คุณหมอจะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อดูว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่
หากลูกน้อยนอนกรน คุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อพัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก ควรพาไปปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดค่ะ
จับตาแบบนี้อันตราย !
หลับแล้วมีเสียงกรนดังและเป็นประจำ
เสียงกรนขาด ๆ หาย ๆ หายใจเฮือกเหมือนขาดอากาศ
กรนร่วมกับอาการหยุดหายใจ หน้าอกไม่ขยับขึ้นลง
ตอนหลับรอบปากเขียวหรือริมฝีปากคล้ำ
เวลานอนหายใจอกบุ๋ม ท้องโป่ง
กลางวันเจ้าตัวเล็กงัวเงีย ง่วงนอนผิดปกติ ขี้หงุดหงิด ซนมาก สมาธิสั้น
หากภาวะนอนกรนของลูกเริ่มทำให้เจ้าตัวเล็กมีอาการเข้าข่ายข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่าเริ่มมีความผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายแล้ว ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
ข้อมูล http://baby.kapook.com