เกณฑ์น้ำหนักปกติของเด็กที่ครบกำหนด จะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 2,500-4,000 กรัม ดังนั้น เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย คือน้อยกว่า 2,500 กรัม สาเหตุเกิดได้จากทั้งตัวคุณแม่และตัวเด็กขณะที่ตั้งครรภ์
ลูกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
สุขภาพคุณแม่ไม่แข็งแรง เนื่องจากโรคประจำตัว หรือมีโรคระหว่างตั้งครรภ์โครงสร้างหรือรูปร่างของคุณแม่มักไม่มีส่วน ทำให้น้ำหนักตัวของทารกแรกคลอดน้อย คุณแม่บางท่านตัวเล็กแต่หากสุขภาพดี มดลูกแข็งแรงดี ลูกก็มีน้ำหนักแรกเกิดดี
อายุของคุณแม่ ความพร้อมในการมีบุตรก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยได้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในขณะที่ยังไม่พร้อม ครรภ์อาจจะไม่ได้รับการบำรุงเท่าที่ควร
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ความสมบูรณ์ของครรภ์ก็ลดลง ลูกก็มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย คือเกิดจากตัวเด็ก เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดต้องแบ่งอาหารกัน หรือคุณแม่และเด็กมีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น
เด็กที่น้ำหนักตัวน้อย อาจทำให้มีปัญหาต่อการคลอด เช่น มีโอกาสเสี่ยงระหว่างคลอด อาจมีการขาดออกซิเจน ส่วนมากหากทราบประวัติก่อน ก็จะสามารถวางแผนและประสานงานกันระหว่างสูตินรีแพทย์ และกุมารแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการทำคลอด หรือบางครั้งต้องใช้ทีมแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์มีความชำนาญเพื่อรับและดูแลเด็กเบื้องต้นตั้งแต่แรกเกิด เช่น ดูแลการหายใจเพื่อป้องกันภาวการณ์ขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด นอกจากนั้นยังคงต้องสังเกตดูแลเรื่องการหายใจอ ย่างละเอียด เพราะทารกกลุ่มนี้มักพบปัญหาการหายใจหอบ หรืออาจต้องการออกซิเจนเสริมในช่วงระยะแรกของชีวิต
ปัญหาอื่น ๆ ช่วงหลังคลอด
เด็กไม่สามารถทนอุณหภูมิภายนอกได้ เพราะไขมันใต้ผิวหนังน้อย เด็กอาจปรับตัวไม่ทัน ต้องอยู่ในตู้อบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายคงที่ หรือถ้าเป็นเด็กตัวเล็กไม่มากนักที่พอจะควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตู้อบ แต่อาจต้องสวมหมวก ใส่เสื้อห่อผ้าหนา ๆ เพื่อจะทำให้ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ดี และอาจต้องมีการตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายให้ดี และอาจต้องมีการตรวจเช็กอุณหภูมิเป็นระยะ ๆ ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะอาหารสะสมของทารกแรกเกิดที่ตัวเล็กมีน้อย ภาวะความเข้มข้นของเลือดสูง เกิดจากเด็กทารกบางรายขาดออกซิเจนระหว่างอยู่ในครรภ์ ทำให้ร่างกายต้องผลิตเม็ดเลือดมากขึ้น เลือดก็จะมีความเข้มข้นเยอะ เพื่อนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ให้เพียงพอ
การดูแลเด็กน้ำหนักตัวน้อย อันดับแรกต้องดูแลเรื่องการหายใจก่อน ต้องมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอบางรายต้องให้ออกซิเจนเสริม พร้อม ๆ กันนั้นก็ดูแลควบคุมอุณหภูมิร่างกายทารกด้วย และตรวจเลือดเพื่อเช็กระดับน้ำตาลความเข้มข้นของเลือด หากตรวจแล้ว อย่างอื่นปกติหมด เป็นแค่น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า ปกติเท่านั้น สุขภาพอื่น ๆ สมบูรณ์ดีหมด ก็จะดูแลเรื่องการกิน ซึ่งส่วนมากเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก ทำให้กินไม่ค่อยเก่ง ต้องฝึกให้กินนมให้เก่งก่อน ให้ได้เพียงพอกับความต้องการจึงจะกลับบ้านได้ และเน้นให้พ่อแม่ดูแลให้ความอบอุ่น อาจต้องซื้อเสื้อผ้าหรือห่มผ้าห่มเนื้อหนาหน่อย เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตทันเพื่อน ๆ เมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือนค่ะ
ดังนั้น เมื่อทราบแล้วว่า คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ก็ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และมาพบสูตินรีแพทย์ตามนัด คุณหมอก็จะทำการอัลตราซาวด์ เป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ คุณหมอจะได้หาสาเหตุและวางแผนการดูแลครรภ์ของคุณแม่อย่างถูกต้องต่อไป
ข้อมูลhttp://women.thaiza.com