1. กอดลูกตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาลืมตาดูโลก
นับตั้งแต่เจ้าตัวเล็กออกมาลืมตาดูโลก เขาต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างโลกที่เขาอยู่มา 9 เดือน (ในท้องคุณแม่) กับโลกภายนอกที่ทั้งสว่างกว่า อุณหภูมิที่ไม่คงที่หรือเย็นเกินไป ทำให้ทารกน้อยกลัว นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเด็กแรกเกิดจึงร้องไห้เสียงดังและจะเงียบลงเมื่อได้รับความอบอุ่นและการโอบกอดของคุณแม่
การกอดลูกและสัมผัสลูกตั้งแต่แรกเกิด แม้ลูกจะยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนกอดเขา แต่การกอดลูกเป็นการช่วยให้ทารกรู้สึกอุ่นสบายและมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นหลังจากต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะคลอด
2. การโอบกอดลูกในช่วง 6 เดือนแรก
ในช่วงเดือนแรกๆ สายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเริ่มทักทอมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นลูกคนแรกด้วย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เชื่อได้เลยว่าคงจะเห่อลูกแน่ๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นรูปแบบความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างแม่กับลูก ซึ่งหากเด็กที่ได้รับความผูกพันทางอารมณ์อย่างดีตั้งแต่แรกเกิด จะส่งผลต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกเมื่อเขาเติบโตขึ้น
เด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดีกับคุณแม่ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเขาเติบโตขึ้น พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเขาจะดีกว่า เขาจะเป็นเด็กร่าเริง และมีภาวะทางอารมณ์ที่ดีกว่า
การโอบกอดลูกในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนแรกนั้น คุณแม่จะโอบกอดลูกทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งผ่านการให้นมลูก โปรดจำไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่ทารกน้อยกำลังดูดนมจากอกของคุณนั้น หากคุณแม่พูดคุยและสัมผัสตัวเขา แสดงออกว่าคุณรักเขามากแค่ไหน ทารกน้อยจะสามารถรับรู้และสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นได้ และสายสัมพันธ์ของคุณแม่กับลูกจะทวีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และส่งผลให้พัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกจะดีขึ้นด้วย
3. การโอบกอดลูกในช่วง 7 เดือน ถึง 1 ขวบครึ่ง
ในช่วงที่ลูกอายุ 7 เดือนเป็นต้นไป ทุกสิ่งรอบตัวของเขาจะเป็นตัวกระตุ้นความสนใจของเขาได้เป็นอย่างดี ลูกจะพยายามหยิบจับ คว้า ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง และแน่นอนว่าเขาจะเริ่มเล่น ยิ้ม หัวเราะกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ยิ่งพอถึงวัยที่เขาเริ่มนั่ง, ลุกขึ้นเดิน ย่างก้าวของการพัฒนาการของเขา หากคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ข้างๆ เขา โอบกอดลูกอย่างสม่ำเสมอ คอยให้กำลังใจและชื่นชมในความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของลูก ลูกจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจและมองโลกในแง่ดี เป็นเด็กที่มีภาวะอารมณ์ที่ดี
เด็กที่ได้รับการโอบกอด ได้รับความรักอย่างสม่ำเสมอ จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและภาวะทางด้านอารมณ์จะดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนอื่น (เช่นพี่เลี้ยง) ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นว่า เด็กที่เลี้ยงโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มักจะมีภาวะทางอารมณ์ไม่ดีนัก
4. การโอบกอดลูกหลัง 1 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ
หากคุณได้กอดลูกมาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แรก เมื่อลูกเข้าสู่วัยนี้ เขาก็ยังคงอยากให้คุณกอด ให้หอมเขาเหมือนเดิม แต่หากตลอดเวลาคุณแทบจะไม่เคยโอบกอดเขา ไม่เคยหอมเขา แล้วจะมาโอบกอดเขา เขาอาจจะไม่ยอมให้คุณโอบกอดเขาแล้ว เนื่องจากว่าเด็กในวัยนี้จะเริ่มสนใจโลกภายนอกมากขึ้น และเขาก็ไม่เคยได้รับความผูกพันที่ดีจากพ่อแม่ เขาจึงสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่าพ่อแม่
แต่ถ้าลูกเติบโตมาพร้อมกับความผูกพัน การโอบกอด ความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อเขา แน่นอนว่าเขาจะเป็นเด็กที่สนใจในสิ่งรอบตัวเช่นกัน แต่เขาจะเป็นเด็กที่มั่นใจเพราะรู้ว่าคุณอยู่เคียงข้างเขาตลอด ลูกจึงเติบโตเป็นเด็กที่มีทัศนะคติที่ดี อารมณ์ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
เมื่อลูกอายุ 3 ขวบเป็นต้นไป
หลังจาก 3 ขวบเป็นต้นไป โลกของเขาจะไม่ได้มีเพียงคุณพ่อคุณแม่เพียงอย่างเดียวแล้ว เขาจะพบกับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ซึ่งหลายคนมักจะพบว่า เวลาที่เด็กจากหลายๆ บ้านมารวมกลุ่มกันนั้น เด็กบางคนจะขี้อายและเก็บตัว เด็กบางคนจะร่าเริงและกล้าแสดงออก และในขณะที่เด็กบางคนจะดื้อ ก้าวร้าว หรือมีภาวะทางอารมณ์ที่ฉุนเฉียวตลอดเวลา
เมื่อลูกของเราโตขึ้น การจะเข้าไปโอบกอดเขาภายหลังทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยกอดเขา ไม่เคยใส่ใจกับการกอด มันก็เป็นเรื่องยากแล้ว ลูกของเราอาจจะรู้สึกแปลกหรือเขินเมื่อถูกพ่อแม่กอด แต่ถ้าเรากอดเขาตั้งแต่เด็กๆ เด็กจะไม่รู้สึกเขินเลยเมื่อพ่อแม่แสดงความรักต่อเขา ดังนั้นหากเราไม่ได้กอดเขาให้มากในช่วง 3 ปีแรก นอกจากจะทำให้เขาเติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการด้านอารมณ์ไม่ดีแล้ว การคิดจะมากอดเขาภายหลัง มันอาจจะเป็นการยากและทำให้เขารู้สึกเขิน
แล้วถ้าเราไม่ได้กอดเขาตั้งแต่แรก.. กอดลูกวันนี้จะทันไหม?
ยังไงการโอบกอดลูก ไม่ว่าจะเป็นตอนแรกเกิดหรือโตแล้วก็ตาม มันก็คือการแสดงออกถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก ดังนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป หากคุณไม่ได้ดูแลเขา ไม่ได้กอดเขาตั้งแต่แรกเกิดแล้ววันนี้เขากลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ดื้อและเอาแต่ใจ เริ่มกอดลูก พูดและแสดงออกให้เขาเห็นว่าพวกคุณรักเขา ห่วงเขา มากแค่ไหน จิตใจของลูกยังไงเขาก็ต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ แม้ว่าการเริ่มต้นโอบกอดลูกเมื่อเขาเติบโตแล้ว อาจจะแปลกๆ ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อคุณทำอย่างต่อเนื่อง ลูกจะรับรู้และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงภาวะด้านอารมณ์ได้ดีขึ้น ขอบคุณข้อมูล http://www.babytrick.com
|