ข่าว นิสา      ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับรางวัลดีเด่น ‘เลิศรัฐ’ ประจำปี 2563



ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รับรางวัลดีเด่น ‘เลิศรัฐ’ ประจำปี 2563








ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานในพิธีมอบรางวัล “เลิศรัฐ” ประจำปี 2563 จัดขึ้น ณ ห้องรอแยล จูบิลี บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 09:30 – 12:00

หลายท่านอาจจะยังไม่เคยรู้จักรางวัลนี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ประเทศไทยมีการมอบรางวัล “เลิศรัฐ” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 โดยภาครัฐได้จัดให้มีการมอบรางวัล “เลิศรัฐ” (Public Sector Excellence Awards – PSEA) ให้แก่หน่วยงานภาครัฐขึ้น รางวัลนี้เกิดขึ้นจากคำสั่งของท่านนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ให้รวบรวมรางวัลที่เดิมมีอยู่มากมายให้เป็นรางวัลเดียว และตั้งชื่อให้น่าสนใจ

รางวัลเลิศรัฐจึงเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ และมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง 
โดยจะมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพ การบริการ และระบบการบริหารเพื่อก่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบ หรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วน และความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยรางวัล “เลิศรัฐ” แบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม






สำหรับในปีนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการตัดสินจาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ว่าเหมาะสมกับการได้รับรางวัล
เลิศรัฐ” ระดับดีเด่น ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลระดับสูงสุด ด้านการบริการภาครัฐ จากผลงาน นวัตกรรม H-Number ซึ่งก็คือ นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุเจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำ เพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงการได้รับรางวัลนี้ว่า ต้นสังกัดของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เสนอให้ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่ง ศวฮ.เคยได้รับรางวัลระดับดีเด่นด้าน “นวัตกรรมการบริการภาครัฐ” มาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2556 ในผลงาน “Hal-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาละครบวงจร”





รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน


“ผ่านไป 7 ปี ครั้งนี้ทางจุฬาลงกรณ์ ฯ ขอให้ ศวฮ.ส่งผลงานอีกครั้ง ศวฮ.จึงส่งเรื่อง H-Numbers เข้าประกวดตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “H-Number นวัตกรรมระบบค้นหาวัตถุ
เจือปนอาหารฮาลาลแม่นยำเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จากเรื่องราวความเป็นมา องค์ประกอบตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ งานชิ้นนี้มีคุณค่าครบถ้วน ซึ่งผลการตัดสิน H-Numbers ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ผมเดินทางไปรับรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางความภาคภูมิใจของชาว ศวฮ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้คน องค์กรและหน่วยงานที่รู้จักเรา”




ดร.วินัย ดะห์ลัน ขยายความถึงเรื่อง H-Numbers ว่า “H-Numbers หรือ Halal Number คือ เลขทะเบียนวัตถุดิบที่ได้รับการยืนยันสภาพฮาลาลจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
จุฬาราชมนตรีในปี พ.ศ.2563 นี้เอง ศวฮ.สะสมวัตถุดิบที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกฮท.) สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) 39 แห่ง เป็นวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขอการรับรองฮาลาลกว่า 5 พันแห่ง รวมกับโรงงานที่เข้ารับการวางระบบ HAL-Q ของ ศวฮ. 770 แห่ง ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลก่อนรับการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้ผลวิเคราะห์รวม 134,400 การวิเคราะห์ จัดทำเป็นตาราง (Tabulation) เป็นสามกลุ่มเพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีทำการตัดสินสภาพฮาลาล”




ท่านยังกล่าวว่า “งาน H Numbers นี้เริ่มต้นใน พ.ศ.2557 โดยนำผลการวิเคราะห์วัตถุดิบที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2547 มาใช้ มีชื่อโครงการว่า IQRAH: Identification of Query
Raw Materials for Assuring Halalness หรือการวิเคราะห์วัตถุดิบต้องสงสัยเพื่อสร้างความมั่นใจสภาพฮาลาล ใช้ชื่อว่า “อิกเราะฮฺ” เพื่อความเป็นศิริมงคลของงาน จากนั้น กำหนดอัลกอริธึมที่นำไปสู่การแยกแยะสภาพฮาลาล และหะรอม เพื่อพัฒนางานต่อเนื่องที่นำไปสู่งานนวัตกรรมด้านวัตถุดิบ ประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนจะได้จาก H-Numbers มีมหาศาล ที่สำคัญ คือ H-Numbers จะทำให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งมีราคาแพงในอนาคตหมดความจำเป็นลง ศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนา New S-Curve เชิงอุตสาหกรรม ความสำเร็จในงานนี้มาจากหลายฝ่ายไม่ใช่ ศวฮ.เท่านั้น รางวัลจึงเป็นของทุกคน”





 

เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ นิตยสารนิสาวาไรตี้ และผู้อ่านทุกท่าน ขอร่วมแสดงความยินดีกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ที่ได้รับมอบรางวัลระดับเกียรติยศ รวมทั้งแสดงความยินดีในความสำเร็จของการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล จนสามารถสร้างสรรค์หลากหลายผลงานให้กับวงการฮาลา ลประเทศไทย จนกระทั่งได้รับรางวัลมากมาย ทั้งในระดับชาติและระดับโลกดังที่ปรากฏ






www.nisavariety.com



Copyrights © 2009 www.nisavariety.com All Rights Reserved.
counter